วันอังคารที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

เตรียมอุดมฯสุดเขี้ยวกดเกรดอันดับหนึ่ง

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) วันที่ 29 ก.ค. ที่ประชุมได้รับทราบรายงานผลการวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติมจากการเปรียบเทียบคะแนนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ปีการศึกษา 2549 กับผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร (GPAX) พบว่า มี รร.ปล่อยเกรด 1,220 โรง แบ่งเป็นปล่อยเกรดมากที่สุด 13 โรง ปล่อยค่อนข้างมาก 62 โรง ปล่อยค่อนข้างน้อย 334 โรง และปล่อยน้อย 811 โรง ส่วน รร.ที่กดเกรดมี 1,280 โรง แบ่งเป็นกดเกรดมาก 1 โรง กดค่อนข้างมาก 19 โรง กดค่อนข้างน้อย 213 โรง และกดน้อย 1,047 โรง ขณะที่ รร.ที่ให้เกรดปกติมี 126 โรง เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับ รร.ที่ปล่อยเกรดมากที่สุด 13 โรง นั้น เป็น รร.ศึกษาพิเศษ 5 โรง ที่เหลือเป็น รร.ขนาดเล็ก ซึ่งเมื่อ สพฐ.ไปตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมก็พบว่า นักเรียนที่จบจาก รร.ขนาดเล็กที่ปล่อยเกรด 793 โรง ไม่ได้สมัครสอบในระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา หรือ แอดมิชชั่น ส่วน รร.ที่กดเกรด 10 อันดับ พบว่า 5 อันดับแรก เป็น รร.ชื่อดังในกรุงเทพฯ ส่วน 5 อันดับหลังเป็น รร.ในต่างจังหวัด ดังนั้นเมื่อดูจากข้อมูลแล้วจะเหมาว่า รร.ในต่างจังหวัดปล่อยเกรดไม่ได้ “สพฐ.จะเชิญ รร.ที่ปล่อยเกรดมากและค่อนข้างมากทั้ง 75 โรง มาหารือและทำความเข้าใจ เพื่อลดปัญหาการปล่อยเกรด ขณะเดียวกันก็จะตรวจสอบข้อมูลของ รร.ที่กดเกรดมากและค่อนข้างมาก 20 โรง อีกครั้งหนึ่งด้วย อย่างไรก็ตามการที่ สพฐ.ออกมาพูดเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เป็นการแก้ตัวแต่เพื่อให้รู้ว่ามี รร.กลุ่มใดที่ปล่อยเกรดจะได้ตามไปแก้ปัญหาและเร่งปรับปรุงการประเมินผลในชั้นเรียนต่อไป” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว ด้าน นายสุชาติ วงศ์สุวรรณ ที่ปรึกษา สพฐ.กล่าวว่า รร.ที่กดเกรดมากนั้น นักเรียนจะมี ค่า GPAX ต่ำแต่คะแนน O-NET สูง ส่วน รร.ที่ปล่อยเกรดค่า GPAX สูงแต่ O-NET ต่ำ ซึ่ง สพฐ.จะขอดูข้อมูลการวิจัยของปีการศึกษา 2550 อีกครั้ง ก่อนที่จะดำเนินการปรับคะแนน GPAX ของทั้ง รร.ที่กดเกรดและปล่อยเกรดให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยคาดว่าจะดำเนินการได้ทันใช้ในการสมัครแอดมิชชั่น ปี 2553 รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับ รร.ที่มีการกดเกรดมากที่ได้สุดในประเทศ คือ รร.เตรียมอุดมศึกษา.

รพ.รัฐวิกฤติขาดแพทย์-พยาบาลจบใหม่

โรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศวิกฤติ ขาดแพทย์-พยาบาลหลายหมื่น พบนักศึกษาจบใหม่แห่ซบโรงพยาบาลเอกชน หลังมีรายได้สูง แต่บางรายหันไปประกอบอาชีพอื่น รมช.สธ.ระบุหมอไทย 1 คนต้องรักษาผู้ป่วยสูงถึง 5 พันคน ขณะที่ต่างประเทศจะรักษาแค่ 800-900 คนเท่านั้น เตรียมประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางแก้ไข หวั่นสายเกินไป
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 28 ก.ค. นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รมช.สาธารณสุข เป็นประธาน ปล่อยคาราวานออกเตือนประชาชนเรื่องเปิบลาบหลู้หมูดิบ หูดับ โรคไข้เลือดออก และโรคอ้วน บริเวณหน้าที่ทำการอำเภอจอมทอง จ.เชียงใหม่ โดยมี นพ.วัฒนา กาญจนกามล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ นพ.สมอาจ วงค์ สวัสดิ์ ผอ.โรงพยาบาลจอมทอง พร้อมด้วยเจ้า หน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่ อสม. กลุ่มชาวบ้าน และประชาชนจากตำบลต่าง ๆ ในเขตพื้นที่ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ กว่า 1,000 คน เข้าร่วม ทั้งนี้นายวิชาญ ให้สัมภาษณ์ว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าขณะนี้ประเทศไทยมีแพทย์ทั่วประเทศ 32,000 กว่าคน แต่ที่ประจำอยู่ในโรงพยาบาลของรัฐ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีเพียง 8,300 คน ที่เหลืออยู่ในสังกัดของโรงพยาบาลเอกชน และลาออกไปศึกษาต่อ ส่วนพยาบาลจากการตรวจสอบพบว่ายังขาดอยู่อีก 27,000 คนทั่วประเทศ ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบจำนวนผู้ป่วยพบว่าแพทย์ 1 คนต้องทำการรักษาผู้ป่วยขณะนี้ถึง 5,000 คน แต่ในต่างประเทศแพทย์ 1 คน จะรักษาผู้ป่วยเพียงแค่ 700-800 คนเท่านั้น ซึ่งเห็นได้ชัดว่าประเทศไทยขาดผู้มีความรู้ทางด้านการแพทย์เป็นอย่างมาก และยังต้องการอยู่อีกหลายหมื่นคน รมช.สาธารณสุข กล่าวต่อว่า สาเหตุที่พบว่าแพทย์ขาดแคลน พบว่ามีอยู่หลายปัจจัย เช่น เรื่องของอัตราค่าครองชีพ เงินงบประมาณในการสนับสนุน ซึ่งมีค่าตอบแทนน้อยกว่าของเอกชน รวมทั้งผู้ที่จบออกมาแล้วหันไปประกอบวิชาชีพอื่น หรือบางคนเมื่อเรียนจบแล้วก็อยากจะเดินทางกลับไปทำงานตามภูมิลำเนาของตนเอง ส่วนหนึ่งก็ได้ลาไปเพื่อศึกษาต่อ เมื่อมองเห็นสาเหตุต่าง ๆ แล้วก็ทำให้ทราบแน่ชัดว่าตอนนี้ประเทศไทยต้องการบุคลากรทางการแพทย์อย่างเร่งด่วน และเรื่องงบประมาณในด้านการสนับสนุนเกี่ยวกับค่าครองชีพที่ต้องมีการปรับอัตราให้เพียงพอ ซึ่งในเรื่องนี้สมาคม ชมรมแพทย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาร่วมสัมมนาในวันที่ 8 ส.ค. เพื่อหาทางแก้ไข ก่อนที่จะเกิดปัญหาการขาดแคลนหรือจำนวนบุคลากรแพทย์ไม่เพียงพอในการรักษาจะมีมากกว่านี้

วันอังคารที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

การแต่งกายของนักศึกษา

ข้อบังคับว่าด้วยการแต่งกายของนักศึกษา


การแต่งกายของนักศึกษาชาย
1. เสื้อเชิ้ตแขน (ยาว/สั่น) สีขาว ไม่มีลวดลาย ให้ใส่ชายเสื้อไว้ในกางเกง
2. กางเกงขายวาแบบสากล ทำด้วยผ้า สีกรมท่าหรือสีด

3. เข็มขัดหนังสีดำ ขนาดกว้าง 3 เซนติเมตร หัวเข็มขัดทำด้วยโลหะสีเงิน เป็นรูปสี่เหลี่ยม ดุนเป็นตรามหาวิทยาลัย
4. เนคไทสีกรมท่า มีตรามหาวิทยาลัย
5. ถุงเท้าสีดำหรือสีเข้ม

6. รองเท้าหุ้มส้นสีดำหรือสีเข้ม

การแต่งกายของนักศึกษาหญิง
1. เสื้อทำด้วยผ้าสีขาว ไม่มีลวดลาย มีความหนาพอสมควร เดินตะเข็บตามขอบปกให้ปรากฏตะเข็บข้างนอก ความยาวของเสื้อเพียงพอเพื่อให้กระโปรงทับได้มิดชิด สาบบ่าเป็น สาบขนาดพองาม ด้านหลังของคอเสื้อที่กึ่งกลางตัวใต้สาบทำจีบชนิดครีบกว้าง 3 เซนติเมตร 1 จีบ ด้านหน้าผ่าอกตรงโดยตลอด มีสาบกว้างขนาด 3 เซนติเมตร ติดกระดุม โลหะสีเงินขนาดเล็ก ดุนเป็นตรามหาวิทยาลัย 5 ดุม แขนเสื้อเป็นแขนสั้น หรือข้อศอกพองาม ปลายแขนมีผ้าอีกชิ้นหนึ่งตลบขึ้น ส่วนที่ตลบกลับตรงท้องแขนกว้าง 3 เซนติเมตร ตรงหลังแขนกว้าง 6 เซนติเมตร การเดินตะเข็บตัวเสื้อทุกตะเข็บให้เดินตะเข็บคู่
2. เครื่องหมายตรามหาวิทยาลัย ทำด้วยโลหะสีเงิน 3 เซนติเมตร ประดับที่อกเสื้อเบื้องขวา
3. เข็มขัด ทำด้วยสักหลาดหรือหนังกลับสีน้ำตาลเข้ม กว้าง 3.5 เซนติเมตร เป็นเข็มขัดรูปปลายแหลม หัวเข็มขัดทำด้วยโลหะสีเงินเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด 4 เซนติเมตร ดุนเป็นตรามหาวิทยาลัยคาดทับรอยต่อที่กระโปรงทับเสื้อ ห้ามใช้เข็มขัด แบบอื่นที่ระบุไว้ในระเบียนนี้
4. กระโปรงทำด้วยผ้าสีกรมท่าหรือสีดำไม่มันแวววาว ไม่มีลวดลาย ความยาวคลุมเข่า แบบเรียบร้อย ห้ามใช้ผ้ายีน ผ้าสักหลาด ผ้าลูกฟูก ผ้าลูกไม้
5. รองเท้า หุ้มส้นหรือมีสายรัดส้น แบบสุภาพ สีดำ ขาว น้ำตาล กรมท่าหรือเทา

-------------------------------------------------------------------------------

การแต่งกายของนักศึกษาที่ถูกระเบียบ



ข้อเสนอแนะ

การแต่งกายที่ถูกต้อง จะบ่งบอกถึงศักดิ์ศรีความเป็นนักศึกษา ซึ่งทุกคนก็รู้ซึ้งเป็นอย่าง เพียงแต่
ะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ หรือ ละเลยไม่สนใจ เท่านั้นเอง
เครื่องแต่งกายนักศึกษาของทุกสถาบัน ได้รับพระราชทานมาอย่างมีเกียรติ เราควรให้ความเคารพ และศรัทธา ควรแต่งให้ดูดี มีสง่าราศี เป็นที่เชิดหน้าชูตาของสถาบัน

มุมความรู้

หลักการของระบอบประชาธิปไตย : วิทยากร เชียงกูล
ความหมายและความสำคัญ
ระบอบประชาธิปไตย หมายถึง ระบอบการปกครองตนเองของประชาชน ตรงกันข้ามกับระบอบอำนาจนิยม ( เช่น ระบอบราชาธิปไตย , ระบอบเผด็จการทหาร, ระบอบอำมาตยาธิปไตย ) ซึ่งเป็นระบอบปกครองโดยคนเดียว หรือโดยคนกลุ่มน้อย ผู้มีอำนาจมากกว่าประชาชนทั่วไป (เรียกว่า พวกอภิสิทธิชน) ในโลกยุคเศรษฐกิจตลาดเสรีสมัยใหม่ คนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นพลเมือง ผู้เสียภาษี(ทั้งทางตรงและทางอ้อม) และเป็นเจ้าของสาธารณสมบัติร่วมกัน เชื่อว่าระบอบประชาธิปไตย เป็นระบอบที่จะสร้างความมีประสิทธิภาพ(ในการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศ) และความเป็นธรรม ได้มากกว่าระบอบอำนาจนิยม ในบางสถานการณ์ ในระบอบอำนาจนิยม อาจจะมีผู้ปกครองที่เป็นคนดีหรือคนเก่งอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มีหลักประกันว่า เขาหรือลูกหลาน หรือพรรคพวกเขา ที่ได้ตำแหน่งจากการสืบเชื้อสาย หรือการแต่งตั้ง จะปกครองประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมสำหรับคนส่วนใหญ่เสมอไป เพราะระบบสืบเชื้อสายและแต่งตั้งเป็นระบบที่ไม่แน่นอน และไม่มีประสิทธิภาพ และเพราะว่าการให้คนสืบทอดอำนาจโดยไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลมักนำไปสู่การฉ้อฉลเพื่อประโยชน์ส่วนตน ระบอบประชาธิปไตยดีกว่าระบอบอำนาจนิยมในแง่ที่ว่า มีระบบคัดเลือกผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพกว่า และมีระบบการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ปกครองมีอำนาจมากจนเกินไปได้ดีกว่า แต่ทั้งนี้ต้องเป็นระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชน มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ไม่ใช้สักแค่มีการเลือกตั้ง แต่ยังมีการซื้อเสียงขายเสียง การโกง การใช้อำนาจและระบบอุปถัมภ์
รูปแบบประชาธิปไตย ระบอบประชาธิปไตย หรือการปกครองตนเองของประชาชน อาจจะแบ่งเป็น1.ประชาธิปไตยโดยตรง – ประชาชนมาประชุมกัน อภิปรายและลงคะแนนกันในเรื่องสำคัญ เช่น การประชุมเรื่องงบประมาณ กฏหมาย ในระดับท้องถิ่น หรือการลงประชามติในระดับประเทศ เช่น การจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 2.ประชาธิปไตยโดยระบบผู้แทน เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่มีประชาชนมาก มีความซับซ้อน ต้องแบ่งงานกันทำ จึงมักใช้วิธีเลือกผู้แทนขึ้นไปเป็นฝ่ายบริหารและฝ่ายออกกฏหมาย 3.ประชาธิปไตยแบบประชาชนมีส่วนร่วม การผสมผสานทั้ง 2 แบบแรก รวมทั้งการให้ประชาชนมีการปกครองตนเองในระดับท้องถิ่น มีองค์กรอิสระที่รักษาผลประโยชน์ฝ่ายประชาชน มีสื่อมวลชนและองค์กรประชาชนที่เข้มแข็ง ภาคประชาชนหรือสังคมพลเมืองมีบทบาทในการตัดสินใจเรื่องการบริหารประเทศค่อนข้างมาก ไม่ได้ปล่อยให้ผู้แทนทำทุกอย่างโดยประชาชนให้ใช้สิทธิแค่เลือกตั้งผู้แทนนานๆครั้งเท่านั้น ตั้งแต่ปี 2475 ประเทศไทย ใช้ประชาธิปไตยแบบที่ 2 เป็นบางช่วง (บางช่วงเป็ฯเผด็จการทหาร) ประเทศไทยควรใช้แบบที่ 1 และ 3 เพิ่มขึ้นเพราะระบอบประชาธิปไตย โดยระบบผู้แทนมีข้อจำกัด โดยเฉพาะในสภาพที่นักการเมืองกลุ่มน้อยมีฐานะทางเศรษฐกิจสูง มีอำนาจและความรู้สูงกว่าประชาชนส่วนใหญ่มาก ทำให้คนกลุ่มนี้มักได้เป็นผู้แทน และมักจะทำอะไรก็ทำได้ตามใจชอบ รวมทั้งการคอรัปชั่น,การหาผลประโยชน์ทับซ้อน โดยอ้างว่าเพราะประชาชนเลือกพวกเขาเข้าไปแล้ว เขาจะทำอะไรก็ถือว่าเป็นประชาธิปไตยทั้งนั้น ประชาธิปไตย โดยระบบผู้แทน หมายถึงว่า ประชาชนเลือกผู้แทนเข้าไปเป็นผู้บริหารจัดการแทนตัวพวกเขา เพื่อให้บริหารประเทศเพื่อประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่เลือกไปเป็นเจ้านายและประชาชนยังมีสิทธิคัดค้านถอดถอนผู้แทนที่ขึ้นไปเป็นรัฐบาลแล้วไม่ได้ทำหน้าที่อย่างซื่อตรงและเพื่อส่วนรวมด้วย แต่รัฐธรรมนูญที่ผ่านมาไม่ได้เปิดช่องทางและไม่มีการให้การศึกษาและข่าวสารแก่ประชาชนว่า ประชาชนมีสิทธิ ประการหลังที่สำคัญนี้ด้วย ประชาชนไม่ได้เลือกผู้แทนไปเป็นเจ้านายในระบอบอำนาจนิยมซึ่งเป็นระบอบเก่า แต่วัฒนธรรมแบบอำนาจนิยม (ยกย่องเกรงกลัวคนมีอำนาจ) ยังคงตกค้างมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่ประชาชนได้รับการศึกษาและข่าวสารน้อยและหรือได้รับแบบคุณภาพต่ำ ทำให้เป็นประชาธิปไตยแค่รูปแบบ หรือเป็นประชาธิปไตยเพียงบางส่วน ยังไม่ใช่การปกครองตนเองของประชาชน ที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่หมายถึงแค่ ประชาธิปไตยทางการเมือง (ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ เลือกตั้ง คัดค้าน ถอดถอน ผู้แทนได้) เท่านั้น หากต้องเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ (มีการกระจายทรัพย์สิน และรายได้ที่เป็นธรรม มีการแข่งขันที่เป็นธรรม) และประชาธิปไตยทางสังคม (ประชาชนมีการศึกษา รับรู้ข้อมูลข่าวสาร มีสิทธิเสรีภาพ และโอกาสการเข้าถึง ศาสนา ความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม อย่างเสมอภาคกัน) ด้วย ประชาธิปไตย 2 อย่างหลังนี้ ประเทศไทยยังมีน้อย รวมทั้ง ไม่มีการให้การศึกษา ให้ความรู้ ข้อมูลข่าวสารประชาชนในเรื่องนี้มากพอ เป็นเหตุให้ประชาธิปไตย การเมือง พัฒนาไปได้ช้ามาก
ประชาธิปไตยในแง่เนื้อหา ระบอบประชาธิปไตยไม่ได้หมายถึงแค่ระบบการเลือกตั้ง หากต้องประกอบไปด้วยสภาวะความเป็นประชาธิปไตย อย่างน้อย 6 ข้อ คือ
1. การเลือกตั้งผู้แทนจะต้องเป็นอิสระและยุติธรรม ไม่มีการใช้อำนาจหน้าที่ของ เจ้าหน้าที่รัฐเพื่อโกงการเลือกตั้ง ไม่มีการซื้อเสียงขายเสียง และการที่กลุ่มอภิสิทธิชนใช้อำนาจอิทธิพลระบอบอุปถัมภ์ ให้คนต้องเลือกเฉพาะพวกเขาบางคน2. จะต้องมีระบบการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจที่ดี เช่น ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ องค์กรอิสระ องค์กรประชาชนสามารถตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารได้ และต่างฝ่ายต่างตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกัน รวมทั้งภาคประชาชนสามารถถอดถอนผู้แทนที่มีพฤติกรรมไม่ชอบธรรมได้3. การบริหารบ้านเมืองจะต้องโปร่งใส มีเหตุผลอธิบายได้ เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่มีการคอรัปชั่น การหาผลประโยชน์ทับซ้อน การเล่นพรรคพวก หาประโยชน์ส่วนตัว4. มีรัฐธรรมนูญและกฏหมาย ขนบธรรมเนียม ที่มุ่งประโยชน์คนส่วนใหญ่ อย่างมี เหตุผล มีความคงเส้นคงวา คนส่วนใหญ่ยอมรับ และรัฐธรรมนูญ กฎหมาย เหล่านั้นมีผลบังคับใช้ด้วย5. สื่อมวลชนและองค์กรประชาชนมิสิทธิเสรีภาพ, เป็นอิสระ, มีศักดิ์ศรี และเข้มแข็ง ประชาชนมีจิตสำนึกความเป็นพลเมือง และมีส่วนร่วมในการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง การแสดงความคิดเห็น การสมาคม การชุมนุม การทำประชาพิจารณ์ (เปิดอภิปรายความคิดเห็นประชาชนเรื่องกฏหมายและโครงการต่างๆ) และการลงประชามติว่า ประชาชนจะรับหรือไม่ในเรื่องสำคัญๆ6. มีการกระจายการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สู่ประชาชน ทำให้เกิดประชาธิปไตยทาง เศรษฐกิจและสังคม และการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่มั่นคง สม่ำเสมอ
ดังนั้น แม้จะมีการเลือกตั้งและมีผู้สมัคร สส. จากพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาด้วยเสียงข้างมาก แต่ถ้าไม่ได้เกิดสภาวะความเป็นประชาธิปไตยตามแนวทาง 6 ข้อนี้ เช่น เป็นรัฐบาลที่ใช้อำนาจผูกขาดแทรกแซงองค์กรอิสระ ปิดปากสื่อมวลชนและประชาชน คอรัปชั่น หาผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง เราก็ควรถือว่าระบอบการปกครองแบบนี้เป็นระบอบประชาธิปไตยเพียงเปลือกนอก หรือเป็นประชาธิปไตยจอมปลอม ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
หากในบางช่วง เช่น หลัง พ.ศ. 2475-2490 , พ.ศ. 2516-2519 ฯลฯ เรามีสภาวะความเป็นประชาธิปไตยบางข้อ มากบ้างน้อยบ้าง ก็อาจถือว่ามีความเป็นระบอบประชาธิปไตยในเชิงเปรียบเทียบ (กับประเทศอื่น,กับประวัติศาสตร์ช่วงอื่น) ได้ระดับหนึ่ง ประเด็นที่สำคัญคือ ประเทศใดจะเป็นประชาธิปไตยในแง่เนื้อหามากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความตื่นตัวและความเข้มแข็งของภาคประชาชนในแต่ละประเทศในแต่ละช่วงตอนของประวัติศาสตร์เป็นสำคัญหลักการประชาธิปไตยระบอบประชาธิปไตย อยู่บนรากฐานหลักการที่สำคัญ 5 ประการ คือ


1. หลักการอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ประชาชนแสดงออกซึ่งการเป็นเจ้าของโดยใช้อำนาจที่มีตามกระบวนการเลือกตั้งอย่างอิสระและทั่วถึงในการให้ได้มาซึ่งตัวผู้ปกครองและผู้แทนของตน รวมทั้งประชาชนมีอำนาจในการคัดค้านและถอดถอนผู้ปกครองและผู้แทนที่ประชาชนเห็นว่า มิได้บริหารประเทศในทางที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม เช่น มีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติ

2. หลักเสรีภาพ ประชาชนทุกคนมีความสามารถในการกระทำหรืองดเว้นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บุคคลต้องการ ตราบเท่าที่การกระทำของเขานั้น ไม่ไปละเมิดลิดรอนสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น หรือละเมิดต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมและความมั่นคงของประเทศชาติ

3. หลักความเสมอภาค การเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงทรัพยากรและคุณค่าต่างๆของสังคมที่มีอยู่จำกัดอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่ถูกกีดกันด้วยสาเหตุแห่งความแตกต่างทางชั้นวรรณะทางสังคม ชาติพันธุ์ วัฒนธรรมความเป็นอยู่ ฐานะทางเศรษฐกิจ หรือด้วยสาเหตุอื่น

4. หลักการปกครองโดยกฏหมายหรือหลักนิติธรรม การให้ความคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทั้งในเรื่องสิทธิเสรีภาพในทรัพย์สิน การแสดงออก การดำรงชีพ ฯลฯ อย่างเสมอหน้ากัน โดยผู้ปกครองไม่สามารถใช้อำนาจใดๆลิดรอนเพิกถอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ และไม่สามารถใช้อภิสิทธิอยู่เหนือกฏหมาย หรือเหนือกว่าประชาชนคนอื่นๆได้

5. หลักการเสียงข้างมาก (Majority rule)ควบคู่ไปกับการเคารพในสิทธิของเสียงข้างน้อย (Minority Rights) การตัดสินใจใดๆที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนหมู่มาก ไม่ว่าจะเป็น การเลือกตั้งผู้แทนของประชาชนเข้าสู่ระบบการเมือง การตัดสินใจของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายตุลาการ ย่อมต้องถือเอาเสียงข้างมากที่มีต่อเรื่องนั้นๆ เป็นเกณฑ์ในการตัดสินทางเลือก โดยถือว่าเสียงข้างมากเป็นตัวแทนที่สะท้อนความต้องการ/ข้อเรียกร้องของประชาชนหมู่มาก หลักการนี้ ต้องควบคู่ไปกับการ เคารพและคุ้มครองสิทธิเสียงข้างน้อยด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นหลักประกันว่า ฝ่ายเสียงข้างมากจะไม่ใช้วิธีการพวกมากลากไปตามผลประโยชน์ความเห็นหรือกระแสความนิยมของพวกตนอย่างสุดโต่ง แต่ต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งหมด เพื่อสร้างสังคมที่ประชาชนเสียงข้างน้อย รวมทั้งชนกลุ่มน้อย ผู้ด้อยโอกาสต่างๆ สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข โดยไม่มีการเอาเปรียบกันและสร้างความขัดแย้งในสังคมมากเกินไป ค่านิยม ทัศนคติ ที่ส่งเสริมประชาธิปไตย ระบอบประชาธิปไตย นอกจากจะเป็นระบอบการเมืองแล้ว ยังเป็นระบอบเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมด้วย ดังนั้นจึงไม่ใช่อยู่ที่รัฐธรรมนูญ กฏหมาย การเลือกตั้ง และการต่อรองทางการเมืองเท่านั้น หากอยู่ที่สมาชิกในสังคมจะต้องช่วยกันหล่อหลอม สร้างค่านิยม วิถีชีวิต ที่เป็นประชาธิปไตย มาตั้งแต่ในครอบครัว โรงเรียน ที่ทำงาน ชุมชน เพื่อจะนำไปสู่หรือการปกป้อง ระบอบประชาธิปไตย ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
ค่านิยมประชาธิปไตยที่ประชาชน ระบบการศึกษา สื่อมวลชน ฯลฯ ควรช่วยกันสร้างคือ


1. เป็นคนที่มีเหตุผล ยอมรับเรื่องสิทธิหน้าที่ ความเป็นจริงในทางสังคม เคารพในตัวเอง เคารพในศีลธรรมและประโยชน์ร่วมกันของส่วนรวม

2. มีทัศนคติที่ดีต่อเพื่อนมนุษย์ มีความเคารพซึ่งกันและกัน และมีความสามัคคี
3. เข้าใจความจำเป็นและประโยชน์ของการเข้ามาอยู่ร่วมกันเป็นพลเมืองของประเทศ เพื่อประโยชน์ของสมาชิกทุกคนในระยะยาว
4. เคารพกฏหมายและดำเนินชีวิตในกรอบของกฏหมายที่มีเหตุผลและเป็นธรรม
5. มีจิตใจเปิดกว้างและพร้อมที่ปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้
6. เป็นคนที่มีความรับผิดชอบผูกพันกับสิ่งที่เขาได้กระทำลงไป
7. มีจิตใจที่เป็นธรรม เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่มีอคติต่อผู้ที่มีความแตกต่างจากตน เช่น นับถือ ศาสนาอื่นหรือเชื้อชาติอื่น เป็นต้น บทบาทของประชาชนในการเสริมสร้างระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่แค่การใช้สิทธิในการเลือกตั้งนานๆครั้ง และพยายามเลือกคนดีคนเก่งมาบริหารประเทศเท่านั้น ประชาชนต้องขวนขวาย ศึกษา พัฒนาตนเอง ใช้สิทธิและหน้าที่พลเมืองที่ดีเข้าไปแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ ในการตัดสินใจ เรื่องการใช้ทรัพยากรของประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ของชุมชน จังหวัด และประเทศ อย่างแข็งขัน และอย่างสม่ำเสมอตลอด ทั้งปีและทุกปีด้วย


บทความที่เกี่ยวข้อง
http://witayakornclub.wordpress.com/author/nidb/