วันอังคารที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

รพ.รัฐวิกฤติขาดแพทย์-พยาบาลจบใหม่

โรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศวิกฤติ ขาดแพทย์-พยาบาลหลายหมื่น พบนักศึกษาจบใหม่แห่ซบโรงพยาบาลเอกชน หลังมีรายได้สูง แต่บางรายหันไปประกอบอาชีพอื่น รมช.สธ.ระบุหมอไทย 1 คนต้องรักษาผู้ป่วยสูงถึง 5 พันคน ขณะที่ต่างประเทศจะรักษาแค่ 800-900 คนเท่านั้น เตรียมประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางแก้ไข หวั่นสายเกินไป
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 28 ก.ค. นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รมช.สาธารณสุข เป็นประธาน ปล่อยคาราวานออกเตือนประชาชนเรื่องเปิบลาบหลู้หมูดิบ หูดับ โรคไข้เลือดออก และโรคอ้วน บริเวณหน้าที่ทำการอำเภอจอมทอง จ.เชียงใหม่ โดยมี นพ.วัฒนา กาญจนกามล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ นพ.สมอาจ วงค์ สวัสดิ์ ผอ.โรงพยาบาลจอมทอง พร้อมด้วยเจ้า หน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่ อสม. กลุ่มชาวบ้าน และประชาชนจากตำบลต่าง ๆ ในเขตพื้นที่ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ กว่า 1,000 คน เข้าร่วม ทั้งนี้นายวิชาญ ให้สัมภาษณ์ว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าขณะนี้ประเทศไทยมีแพทย์ทั่วประเทศ 32,000 กว่าคน แต่ที่ประจำอยู่ในโรงพยาบาลของรัฐ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีเพียง 8,300 คน ที่เหลืออยู่ในสังกัดของโรงพยาบาลเอกชน และลาออกไปศึกษาต่อ ส่วนพยาบาลจากการตรวจสอบพบว่ายังขาดอยู่อีก 27,000 คนทั่วประเทศ ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบจำนวนผู้ป่วยพบว่าแพทย์ 1 คนต้องทำการรักษาผู้ป่วยขณะนี้ถึง 5,000 คน แต่ในต่างประเทศแพทย์ 1 คน จะรักษาผู้ป่วยเพียงแค่ 700-800 คนเท่านั้น ซึ่งเห็นได้ชัดว่าประเทศไทยขาดผู้มีความรู้ทางด้านการแพทย์เป็นอย่างมาก และยังต้องการอยู่อีกหลายหมื่นคน รมช.สาธารณสุข กล่าวต่อว่า สาเหตุที่พบว่าแพทย์ขาดแคลน พบว่ามีอยู่หลายปัจจัย เช่น เรื่องของอัตราค่าครองชีพ เงินงบประมาณในการสนับสนุน ซึ่งมีค่าตอบแทนน้อยกว่าของเอกชน รวมทั้งผู้ที่จบออกมาแล้วหันไปประกอบวิชาชีพอื่น หรือบางคนเมื่อเรียนจบแล้วก็อยากจะเดินทางกลับไปทำงานตามภูมิลำเนาของตนเอง ส่วนหนึ่งก็ได้ลาไปเพื่อศึกษาต่อ เมื่อมองเห็นสาเหตุต่าง ๆ แล้วก็ทำให้ทราบแน่ชัดว่าตอนนี้ประเทศไทยต้องการบุคลากรทางการแพทย์อย่างเร่งด่วน และเรื่องงบประมาณในด้านการสนับสนุนเกี่ยวกับค่าครองชีพที่ต้องมีการปรับอัตราให้เพียงพอ ซึ่งในเรื่องนี้สมาคม ชมรมแพทย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาร่วมสัมมนาในวันที่ 8 ส.ค. เพื่อหาทางแก้ไข ก่อนที่จะเกิดปัญหาการขาดแคลนหรือจำนวนบุคลากรแพทย์ไม่เพียงพอในการรักษาจะมีมากกว่านี้

4 ความคิดเห็น:

Porta กล่าวว่า...

การที่แพทย์ไปทำงานในโรงเอกชนเนื่องจากได้รับค่าตอบแทนมากกว่า และโรงพยาบาลเอกชนมีการให้บริการที่ดี เป็นที่นิยมของคนมีฐานะดี ดังนั้นรัฐบาลควรยกระดับมาตรฐานโรงพยาบาลรัฐให้มีคุณภาพมากกว่านี้ และควรปลูกฝังจิตสำนึกของการเป็นแพทย์ที่มีคุณภาพ ให้คำนึงถึงคุณธรรม และจริยธรรม มากกว่าด้านผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการรักษา

FastNews กล่าวว่า...

ในปัจจุบัน แพทย์และพยาบาลจบมาก็เยอะพอสมควร นักศึกษาแพทย์และพยาบาลก็มีอยู่เยอะ แต่ส่วนมากที่จบออกมาก็นิยมที่จะไปทำงานกับโรงพยาบาลเอกชนกันมากกว่า เพราะได้รายได้ตอบแทนเยอะกว่าโรงพยาบาลของรัฐ

Democl2acy Group กล่าวว่า...

มันก็คงจะเป็นอย่างงั้นล่ะนะ
เพราะมีใครมั่งล่ะที่ไม่อยากได้ค่าตอบแทนที่สูง
ถึงจะมีสวัดิการมากมายแต่ของเอกชนก็มีนี่
มันเป็นธรรมดาอยู่แล้ว
ยิ่งเศรษฐกิจเป็นซะอย่างงี้
เป็นใครก็เลือกที่จะได้เงินเดือนมากๆทั้งนั้นแหล่ะ

kongkoyman กล่าวว่า...

โห
งั้นคนจนก้อไม่มีสทธิ์ป่วยเลยล่ะสิ
ต้องตายอย่างเดียวใช่อ่ะป่ะ
30 บาทตายทุกโรคแน่ๆ
โลกนี้ไม่ยุติธรรมเอาซะเลย